Wednesday, March 27, 2019

ดี-ชั่ว ใครตัดสิน เอาอะไรมาวัด?

จากที่ลงธรรมบรรยายของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ใน Facebook ดังนี้
พอถึงวันเลือกตั้ง เราตัดสินใจด้วยธรรมาธิปไตย เลือกใครล่ะ ก็ใช้ปัญญาพิจารณาตรวจตราไล่ดูให้ชัดที่สุด ใครพรรคไหนเป็นคนดีมีธรรม มีปัญญา ซื่อสัตย์สุจริต มุ่งทำประโยชน์แก่ส่วนรวมแน่นอน ก็ได้ตัวเลย บอกว่าคนนี้เป็น “ผู้แทน” ของเราได้

ผู้แทนเป็นอย่างไร ก็แสดงว่า ผู้เลือกคงเป็นอย่างนั้น

ถ้าผู้เลือกเป็นคนดี ก็คงได้ผู้แทนที่เป็นคนดี

ถ้าผู้แทนชั่ว ก็ต้องสงสัยไว้ก่อนว่าผู้เลือกก็คงจะชั่ว หรือมีคุณภาพต่ำ

มองไปได้ถึงทั้งประเทศ คนชาติอื่นมองดูที่ ส.ส. ไทย แล้วบอกว่า คนไทยก็คืออย่างนี้

.:. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) .:.

[ประชาธิปไตย ไม่ยาก ถ้าอยากได้(๑๒๑)]

ก็มีผู้หนึ่งถามต่อจากผู้ที่ share ว่า " ปัญหาคือ ดี-ชั่ว ใครตัดสิน?? เอาอะไรมาเป็นไม้บรรทัดในการวัด? และก็มีผู้มากด Like เห็นชอบด้วย



ดี-ชั่ว เดี๋ยวนี้เห็นหลายคนก็จะมีคำถามในลักษณะอย่างนี้ คือรู้เองไม่ได้ ไม่รู้จะเอาอะไรมาตัดสิน ก็เลยคิดว่าต้องตอบ เพื่ออย่างน้อยก็พอชี้ช่องได้ เป็นแนวคิดต่อได้บาง ดีกว่าปล่อยให้ไปตั้งคำถามกันแบบไม่รู้เรื่อง จนกลายไปเป็นประชดประชันไป จึงตอบไปอย่างนี้

" การได้สั่งสมปัญญาประกอบเจตจำนงที่ดี รู้จักฝึกคิดวิภัชชวาท ก็จะรู้ได้เองว่า "ธรรม" นั้นเองเป็นตัววัด ดี-ชั่ว จึงไม่ต้องมีใครมาตัดสินให้ แม้มีคนมาบอกให้แต่ถ้ามีอคติ๔ ก็ไม่ยอมรับฟัง(เชื่อ-ไม่เชื่ออีกเรื่อง)

ขอยกตัวอย่างขั้นพื้นฐานเช่น วินัยการขับรถ ต่อ
แถวรอเลี้ยวซ้ายกันยาวอย่างเป็นระเบียบอยู่ และแล้วก็มีคันหนึ่งวิ่งมาไหล่ทางซ้าย อีกคันหนึ่งวิ่งมาช่องทางขวาแทรกเบียดเข้าข้างหน้า อย่างนี้เราพอจะพิจารณาตัดสินได้ไหมว่าการกระทำอย่างไหนดี อย่างไหนชั่ว? เราต้องให้ใครมีตัดสินให้ไหม? แล้วเราอะไรเป็นตัววัด?

ขอให้ตัวอย่าง เช่น กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต นี่ก็เป็นพื้นฐานของคนดี

การฝึกสิกขาบท ๕ นี่ก็เป็นพื้นฐานของคนดี ช่วยให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบไม่เบียดเบียนกัน

อย่างการตัดสินใจเลือกผู้แทนฯนี้ ลองศึกษาหลักการตัดสินใจแบบ โลกาธิปไตย อัตตาธิปไตย ธรรมาธิปไตย น่าจะเข้าใจได้...

ขอตอบเพียงเท่านี้ก่อน พอจะช่วยแก้ข้อสงสัยนี้ได้ไหมครับ
"

No comments:

Post a Comment